หนี้บัตรเครดิต หนี้ส่วนบุคคล หนี้อะไรๆ ก็จัดการซะ ก่อนหนี้จะท่วมหัว

หนี้บัตรเครดิต หนี้ส่วนบุคคล
หนี้บัตรเครดิต หนี้ส่วนบุคคล หนี้อะไรๆ ก็จัดการซะ ก่อนหนี้จะท่วมหัว
#@# คนที่ได้รับอนุมัติเครดิต และมีหนี้จากบัตรเครดิต ถ้าสามารถย้อนเวลากลับไปได้ ผมเชื่อว่า ส่วนใหญ่จะไม่อยากได้บัตรเครดิตแน่ๆ นั่นเพราะเขารู้แล้วว่า ข้อดี ข้อเสีย บัตรเครดิต มันเป็นยังไง แล้วบัตรเครดิตมันเหมาะสมหรือเป็นประโยชน์กับเขามากกว่าการไม่มีบัตรเครดิตหรือไม่ ในทางกลับกัน คนที่ไม่มีบัตรเครดิต ก็จะพยายามหาทางเพื่อให้ธนาคารเจ้าของบัตรอนุมัติบัตรเครดิตให้ด้วยวิธีการต่างๆ นาๆ นั่นก็เพราะส่วนหนึ่งอาจจะคิดว่า บัตรเครดิตเหมาะกับเขา หรืออาจจะแค่อยากมี อยากได้ ก็ว่ากันไปครับ เข้าทำนองประมาณว่า คนในอยากออก คนนอกอยากเข้า  คนมีบัตรเครดิต มีหนี้แล้ว ก็ไม่อยากมีบัตรเครดิต ไม่อยากก่อหนี้ ส่วนคนอยากมีบัตรเครดิต ก็จะพยายามทำทุกวิธี เพื่อให้ธนาคารอนุมัติบัตรเครดิตให้ไวๆ แนะนำเล็กน้อยว่า มีหนี้ ไม่ใช่เรื่องเสียหาย และไม่ใช่เรื่องร้ายแรงอะไร ไม่ได้มีโทษเหมือนกับการไปฆ่าคนพิการตาย ซึ่งกำลังเป็นข่าวดังอยู่ในตอนนี้ มันอยู่กับการบริหารจัดการของเรา มีหนี้ก็ชำระหนี้ หนี้มีได้แต่ต้องดูเหตุการณ์และความจำเป็น ขอย้ำนะครับว่า ตามความจำเป็น ไม่ใช่ตามความต้องการ ก่อนจะมีก็ต้องดูด้วยว่าเราผ่อนชำระไหวขนาดไหน อยู่ดีๆ คงไม่มีใครอยากเป็นหนี้แน่นอน คนจะสร้างหนี้ล้วนแต่เมื่อมีเหตุจำเป็นหรือเหตุการณ์ฉุกเฉิน ของแต่ละคนไป เทคนิคที่ผมจะแนะนำต่อไปนี้ จะเป็นเหมือนยันต์ป้องกันไม่ให้เป็นหนี้จนชำระไม่ไหว หนี้บัตรเครดิต หนี้ส่วนบุคคล หนี้อะไรๆ ก็จัดการซะ ก่อนหนี้จะท่วมหัว มีอะไรบ้าง... บัตรเครดิตบล็อก ขอแนะนำให้อ่านและไตร่ตรองตามไปด้วยนะครับ


1. ตั้งสติก่อนยืมสตางค์ อย่างที่เขารณรงค์อุบัติเหตุก็จะมี ตั้งสติก่อนสตาร์ท เรื่องการเงินเราก็มีเหมือนกัน คือ "ตั้งสติก่อนยืมสตางค์" สาเหตุที่ทำให้หลายคนเป็นหนี้มาจากการจับจ่ายใช้สอยเกินตัว ไม่ว่าจะเป็นความต้องการโทรศัพท์มือถือเครื่องใหม่หรือรถคันใหม่ป้ายแดง ซึ่งบ่อยครั้ง เกิดจาก “ความต้องการ” มากกว่า “ความจำเป็น” ก่อนที่จะตัดสินใจ ซื้อสินค้าหรือบริการอะไรซักอย่าง เราควรพิจารณาก่อนว่า ของสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่จำเป็นในการดำรงชีวิตของเราหรือไม่ และของที่มีอยู่เดิมยังสามารถใช้งานต่อไปได้หรือไม่ เพราะการซื้อของที่เกิดจากความต้องการหรือความอยากบ่อยๆ นอกจากจะทำให้เราไม่มีเงินเก็บแล้ว ก็อาจทำให้เกิดการกู้หนี้ยืมสินขึ้นมาได้ อย่างไรก็ตาม หากของที่เราจะซื้อเป็นสิ่งที่จำเป็น และเงินที่มีอยู่ไม่เพียงพอ เช่น คู่แต่งงานใหม่จำเป็นต้องซื้อบ้านเพื่อสร้างครอบครัว หรือพนักงานขายต้องซื้อรถเพื่อใช้ในงานขาย เป็นต้น ก็จำเป็นที่จะต้องขอสินเชื่อเพื่อซื้อสินค้าชิ้นนั้น โดยภาระผ่อนหนี้ก็ต้องมั่นใจว่าสามารถผ่อนไหว เพื่อให้สามารถชำระหนี้ได้โดยไม่เหนื่อยจนเกินไป
2. หาเจ้าหนี้ดอกเบี้ยถูกที่สุดและเราเองจ่ายไหว เมื่อมีความจำเป็นต้องขอสินเชื่อหรือเงินกู้ การขอสินเชื่อที่เหมาะสม จะช่วยให้เราจ่ายดอกเบี้ยน้อยลง และทำให้ภาระหนี้หมดไวขึ้น ยกตัวอย่างเช่น หากต้องการสินเชื่อสูง ควรเลือกสินเชื่อแบบมีหลักประกัน เช่น บ้าน รถยนต์ มาเป็นหลักประกันในการขอสินเชื่อ จะช่วยให้สามารถกู้ยืมเงินได้ในอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำ เป็นต้น
3. เลือกจังหวะโปะหนี้ให้ดี ประหยัดได้เยอะ เมื่อมีภาระหนี้เกิดขึ้น วิธีหนึ่งที่ช่วยให้พ้นจากการเป็นหนี้ได้เร็วคือ การโปะหรือชำระหนี้บางส่วน หากมีเงินเหลือในแต่ละเดือนหรือได้รับเงินก้อนเข้ามา ก็สามารถนำมาโปะหนี้ได้ แต่ก่อนที่จะตัดสินใจโปะหนี้นั้น ควรพิจารณาก่อนว่า หนี้ที่มีอยู่คิดดอกเบี้ยแบบไหน โดยสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 รูปแบบคือ
      • ดอกเบี้ยแบบลดต้นลดดอก หากภาระหนี้ที่มีเป็นสินเชื่อบ้าน บัตรเครดิต บัตรกดเงินสด หรือสินเชื่อบุคคล ซึ่งมีการคิดดอกเบี้ยแบบลดต้นลดดอก การโปะก็จะช่วยให้ยอดเงินต้นลดลงได้ไว ทำให้ภาระดอกเบี้ยลดน้อยลง
      • ดอกเบี้ยแบบคงที่ กรณีที่ภาระหนี้เป็นหนี้สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ จะไม่แนะนำให้โปะ เนื่องจากสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์คิดอัตราดอกเบี้ยแบบคงที่ คือ คำนวณดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายทั้งหมดรวมเข้ากับเงินต้น แล้วเฉลี่ยออกมาเป็นเงินที่ต้องชำระคืนแต่ละงวด ทำให้การนำเงินก้อนไปโปะไม่มีผลให้ดอกเบี้ยที่ต้องชำระลดลง อย่างไรก็ตาม สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์มีเงื่อนไขพิเศษว่า เมื่อมีการนำเงินไปปิดหนี้ก่อนกำหนด จะได้รับส่วนลดดอกเบี้ยลงครึ่งหนึ่งของยอดดอกเบี้ยคงค้าง ดังนั้น การนำเงินก้อนไปปิดหนี้รถที่คงเหลืออยู่จะคุ้มค่ากว่าการนำไปชำระหนี้เพียงบางส่วน
4.มั่นใจว่าจ่ายได้ครบก็จบแน่นอน เมื่อเป็นหนี้ สิ่งสำคัญคือ การมีวินัยในการชำระหนี้ โดยควรชำระหนี้อย่างสม่ำเสมอเป็นประจำทุกเดือน หากกลัวว่าจะลืมชำระหนี้ ก็สามารถสมัครบริการหักบัญชีเงินฝากอัตโนมัติ หรือบันทึกลงในโทรศัพท์มือถือเพื่อเตือนความจำของตนเอง อย่างไรก็ตาม หากเริ่มมีเงินไม่พอในแต่ละเดือน ทำให้ต้องผ่อนชำระขั้นต่ำ หรือผ่อนชำระล่าช้า อาจเป็นสัญญาณเตือนว่า จะพบกับภาวะหนี้ท่วมหัวได้ วิธีการแก้ไขเบื้องต้นคือ การจดบันทึกรับจ่าย เพื่อให้ทราบว่า การใช้จ่ายในแต่ละเดือนเป็นอย่างไร และสามารถปรับลดค่าใช้จ่ายอะไรได้บ้าง เป็นการช่วยเพิ่มความสามารถในการชำระหนี้ ทำให้ภาระหนี้หมดลงตามแผนที่วางไว้

      เริ่มที่ตอนนี้ ถ้าคุณไม่อยากเป็นหนี้ คุณสามารถวางแผนเรื่องการเงินไว้ล่วงหน้า ไม่ว่าจะด้วยการฝากเงินเป็นประจำทุกเดือน หรือการหารายได้เสริม หรืออะไรก็แล้วแต่ ที่เป็นลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ มันจะทำให้คุณมั่นใจได้ว่า หากมีเหตุการณ์หรือกรณีฉุกเฉิน คุณจะไม่ต้องเสี่ยงกับการเป็นหนี้ โดยควรมีการสำรองเงินเท่ากับค่าใช้จ่ายรายเดือนประมาณครึ่งปีเป็นอย่างน้อย  เพราะถ้ามีเหตุการณ์ไม่คาดฝันอย่างตกงาน หรือเกิดอุบัติเหตุ เงินก้อนนี้จะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนที่เกิดจากเงินขาดมือได้ ทำให้ไม่ต้องไปกู้หนี้ยืมสินเป็นภาระทางการเงินของตนเองและครอบครัว