เงินขาดมือ ไม่จำเป็นต้องเป็นหนี้บัตรเครดิตเสมอไป แหล่งกู้เงินดอกเบี้ยต่ำมีเยอะแยะ (เรียงตามลำดับอัตราดอกเบี้ย)

หนี้บัตรเครดิตเสมอไป แหล่งกู้เงินดอกเบี้ยต่ำ
เมื่อเกิดปัญหาเงินขาดมือ เรียกให้หรูหน่อยก็ประมาณว่า ขาดสภาพคล่องทางการเงิน สิ่งแรกที่เรามักจะทำก็คือ หยิบยืมจากคนใกล้ตัว ถ้าได้ก็ดีไป แต่ถ้าไม่ได้ล่ะ ทางออกต่อไปก็คงหนีไม่พ้นกู้เงินจากธนาคาร หรือบางคนอาจจะมีรถ มีบ้าน ก็ต้องจำนองรถ บ้าน ไว้กับธนาคาร แต่นั่นเป็นทางออกสุดท้ายจริงๆ ค่อยว่ากันครับ รูปแบบการกู้เงินจากแหล่งเงินกู้ต่างๆ เมื่อเงินขาดมือก็มีหลากหลายซะเหลือเกิน ปัญหาอยู่ทีว่า แล้วเราจะขอกู้เงิน (ขอสินเชื่อ) แบบไหนดี ถึงจะเหมาะ พูดง่ายๆ ตามประสาคนอยากมีเงิน อยากได้ยอดเงินกู้เยอะๆ แต่ต้องผ่อนน้อยๆ ก็ต้องบอกว่า มันช่างแตกต่างกับความเป็นจริงซะเหลือเกิน หลายๆ คน เมื่อเงินขาดมือก็มักจะใช้วิธีรูดบัตรเครดิต หรือกดบัตรเงินสดเพื่อมาจ่ายก่อน แต่นั่นนับว่าไม่ใช่ทางออกทีดีเลย เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยที่สูงนั่นเอง แถมบางครั้งยังมีค่าธรรมเนียมจากการใช้เงินสดอีกด้วย สุดท้ายแล้ว เราอาจจะจ่ายหนี้ที่เกิดขึ้นจากบัตรเครดิต บัตรกดเงินสดไม่ไหวก็ได้ วันนี้ บัตรเครดิตบล็อก ขอนำเสนอแหล่งเงินกู้ ดอกเบี้ยต่ำ ยอดเงินไม่สูงมากนัก ซึ่งผมก็เรียงลำดับมาให้แล้ว จากอัตราดอกเบี้ยต่ำที่สุด ก็คิดว่าน่าจะเป็นทางออกสำหรับผู้ที่เดือดร้อน และหวังแต่จะพึ่งพาการกดบัตรเครดิต กดบัตรเงินสดกันอย่างเดียว แหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ เรียงตามลำดับอัตราดอกเบี้ยมีอะไรบ้าง คำตอบอยู่ด้านล่างนี้ครับ...

อันดับที่ 1 กู้เงินจากกรมธรรม์ประกันชีวิต : หลายคนคงไม่ทราบว่า กรมธรรม์ประกันชีวิตที่เรามี หากมีมูลค่าเงินสดหรือมูลค่าเวนคืนเกิดขึ้นแล้ว เราสามารถนำมาเป็นหลักประกันในการกู้ยืมเงินได้ โดยทั่วไปมูลค่าเวนคืนจะเกิดขึ้นเมื่อชำระค่าเบี้ยเป็นเวลา 2 ปีขึ้นไป และเราสามารถกู้ได้ไม่เกินมูลค่าเวนคืนที่เกิดขึ้นในขณะนั้น เช่น ทำประกันครบ 10 ปี ในตารางระบุมูลค่าเวนคืนเท่ากับ 90 หมายความว่า เงินเอาประกันภัย 1,000 บาท กรมธรรม์นี้มีมูลค่าเวนคืน 90 บาท ดังนั้น ถ้าทำประกันโดยมีจำนวนเงินเอาประกันภัย 1 ล้านบาท จะมีมูลค่าเวนคืนเท่ากับ 90,000 บาท ในส่วนของอัตราดอกเบี้ยในการขอกู้เงินจากกรมธรรม์ อัตราดอกเบี้ยที่บริษัทประกันคิดจะสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยที่ระบุไว้ที่หน้ากรมธรรม์ 2% เช่น หน้ากรมธรรม์ระบุอัตราดอกเบี้ยที่ 4% ต่อปี อัตราดอกเบี้ยของการกู้เงินกรมธรรม์จะเท่ากับ 6% ต่อปี ดังนั้น การกู้เงินจากกรมธรรม์ประกันชีวิตถือว่าเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ หากเราจำเป็นต้องการใช้เงิน เพราะอัตราดอกเบี้ยนับว่าต่ำเมื่อเทียบกับเงินกู้แหล่งอื่นๆ อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ต้องระวังคือ หากเงินกู้ยืมและดอกเบี้ยค้างชำระมีมูลค่ามากกว่าเงินค่าเวนคืนกรมธรรม์ในขณะนั้น จะทำให้กรมธรรม์สิ้นผลบังคับซึ่งเท่ากับว่าความคุ้มครองจะหมดไป สิ่งเหล่านี้ต้องระวังไว้ด้วย
อันดับที่ 2 ใช้สินทรัพย์เป็นหลักประกันในการขอสินเชื่อ : บ้านและรถนับว่าเป็นทรัพย์สินที่มีมูลค่าสูงของคนเรา ในกรณีที่ขัดสนเงิน หรือมีเหตุจำเป็นต้องใช้เงิน สามารถนำทรัพย์สินเหล่านี้มาแปลงเป็นเงินสด สำหรับการนำบ้านมาเป็นหลักประกันเพื่อขอเงินกู้กับธนาคารนั้น ธนาคารจะให้วงเงินกู้ประมาณ 70-80% ของราคาประเมิน โดยอัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ประมาณ 7.5% ต่อปี (โปรดตรวจสอบอัตราดอกเบี้ยที่แน่นอนอีกครั้ง) และเป็นอัตราดอกเบี้ยแบบลดต้นลดดอก โดยระยะเวลาการผ่อนของสินเชื่อประเภทนี้จะค่อนข้างสูงอยู่ที่ 15-30 ปี ขึ้นกับเงือนไขและการพิจารณาของแต่ละธนาคาร ส่วนการนำรถมาเป็นหลักทรัพย์เพื่อขอสินเชื่อนั้น ปกติแล้ว ธนาคารจะให้วงเงินประมาณ 80% ของราคาประเมิน โดยมีการคิดอัตราดอกเบี้ยแบบคงที่ ซึ่งปัจจุบันสูงสุดไม่เกิน 13% ต่อปี หรือถ้าคิดแบบลดต้นลดดอกจะอยู่ที่ประมาณ 23% ต่อปี และมีระยะเวลาผ่อนประมาณ 12-60 เดือน ดอกเบี้ยใช่เล่นเลยนะครับ เพราะฉะนั้นแล้ว ก่อนจะกู้ พิจารณาให้ดีๆ นะครับ
      แต่...การนำบ้านหรือรถซึ่งเป็นทรัพย์สินที่สำคัญของเรามาเป็นหลักประกันเพื่อขอสินเชื่อนั้น ควรมั่นใจว่า ตัวเรามีความสามารถในการชำระหนี้ เพราะหากไม่สามารถชำระหนี้ได้ บ้านหรือรถที่นำมาเป็นหลักประกันจะถูกยึดได้ ของที่เคยเป็นของเรา ต้องมาถูกยึดไป ไม่ใช่เรื่องดี เดือดร้อนแน่นอนครับ
 อันดับที่ 3 กดเงินจากบัตรเครดิตและบัตรกดเงินสด : เมื่อต้องการเงินสด การกดเงินจากบัตรเครดิตและบัตรกดเงินสดเป็นวิธีที่เราสามารถได้เงินมาอย่างง่ายดาย เพียงแค่เดินไปที่ตู้เอทีเอ็มก็จะได้เงินสดมาแล้ว แต่เพราะความสะดวก ไม่มีขั้นตอนยุ่งยาก และไม่มีอะไรมาเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน ทำให้การกู้เงินหรือขอสินเชื่อด้วยวิธีนี้มีอัตราดอกเบี้ยที่ค่อนข้างสูงอยู่ที่ 20-28% ต่อปี โดยดอกเบี้ยจะถูกคิดนับตั้งแต่วันที่เรากดเงินจากบัตรเครดิตและบัตรกดเงินสด นอกจากนี้ การกดเงินจากบัตรเครดิตยังมีค่าธรรมเนียมในการกดอยู่ที่ 3% ของยอดเงินที่กดอีกด้วย จากอัตราดอกเบี้ยที่สูงแบบนี้ ผมจึงแนะนำว่า...การกดเงินจากบัตรเครดิตและบัตรกดเงินสด เป็นทางเลือกลำดับท้ายๆ หากเงินขาดมือครับ
      ข้อแนะนำเบื้องต้น... เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาเงินขาดมือ เราควรมีการสำรองเงินไว้เผื่อฉุกเฉิน หากจะให้ดีก็ต้องมีเงินสำรองไว้ 6 เท่าของค่าใช้จ่ายรายเดือน ถึงแม้ว่าไม่ช่วยแก้ปัญหาได้ทั้งหมด แต่ก็น่าจะเป็นอีกวิธีหนึ่งที่ช่วยลดความรุนแรงของปัญหาได้ สำหรับบัญชีที่ใช้เพื่อสำรองเงินเผื่อเหตุฉุกเฉินนี้ ควรเป็นบัญชีที่แยกออกจากเงินที่ใช้จ่ายเป็นประจำ เพื่อให้มั่นใจว่า เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้นแล้ว จะได้มีเงินเพียงพอ ไม่ต้องไปหยิบยืมเงินจากคนใกล้ชิด ไม่ต้องกู้เงินจากกรมธรรม์ประกันชีวิต ไม่ต้องใช้รถ ใช้บ้าน เพื่อเป็นหลักประกันในการขอสินเชื่อ ไม่ต้องกดเงินจากบัตรเครดิตและบัตรกดเงินสด นั่นเองครับ ... ขอบคุณสำหรับการติดตาม