สงกรานต์-ปีใหม่ เทศกาลไหนๆ "บัตรเครดิต" ใช้อย่างไร จึงจะปลอดภัยและคุ้มค่าที่สุด

สงกรานต์-ปีใหม่ เทศกาลไหนๆ "บัตรเครดิต" ใช้อย่างไร จึงจะปลอดภัยและคุ้มค่าที่สุด
       ในช่วงเทศกาล ไม่ว่าจะเป็น ปีใหม่ สงกรานต์ ตรุษจีน หรือช่วงวันหยุดต่อเนื่องหลายวัน ผู้คนมักจะออกเดินทางท่องเที่ยวบ้าง กลับบ้านต่างจังหวัดบ้าง และในช่วงนี้เอง ทางธนาคารต่างๆ จะต้องนำเงินเข้าตู้เอทีเอ็มไว้เป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นเขตชุมชน หรือตู้เอทีเอ็มที่ผู้คนมักไม่ค่อยได้ใช้บริการก็ตาม แต่ไม่ว่าทุกธนาคารจะเตรียมพร้อมไว้แค่ไหน เนื่องจากผู้คนมีจำนวนมาก ทำให้ช่วงเทศกาลเงินในตู้เอทีเอ็ม เรียกได้ว่า ไม่เพียงพอต่อผู้ใช้บริการเลย ทางออกสำหรับผู้คนทั่วไปก็คือ ใช้บริการบัตรเครดิตร่วมด้วย คือ อาจจะกดเงินสดมาไว้ใช้จ่ายบางส่วน และบางส่วนใช้จากบัตรเครดิต เช่น เติมน้ำมันในระหว่างเดินทาง เป็นต้น คงต้องบอกว่า มิจฉาชีพอาศัยช่วงชุลมุนช่วงเทศกาลนี้ อาจจะก่อเหตุเกี่ยวกับบัตรเครดิตก็ได้ เพราะคนเราบางครั้งก็คงมีการสะเพร่า เผลอเรอ เนื่องจากรีบร้อน ไม่ระมัดระวัง ด้วยเหตุนี้ "บัตรเครดิต" บล็อก มีข้อแนะนำ และข้อเตือนภัยเกี่ยวกับบัตรเครดิตมาฝากกันนะครับ ​​​​​​​สำหรับ บัตรเครดิต บัตรเดบิต บัตรกดเงินต่าง ๆ เป็นบัตรที่อำนวยความสะดวกในการทำธุรกรรมทางการเงินของเจ้าของบัตร เช่น ถอนเงิน โอนเงิน ชำระเงิน ซึ่งบัตรเหล่านี้จะบันทึกข้อมูลส่วนตัวและข้อมูลทางการเงินของเจ้าของบัตรไว้ หากมิจฉาชีพเข้าถึงข้อมูลเหล่านี้ได้จากการขโมยบัตรหรือขโมยข้อมูลในบัตร มิจฉาชีพก็จะสามารถนำข้อมูลเหล่านี้ไปปลอมเป็นเจ้าของบัตรทำธุรกรรมทางการเงินต่าง ๆ ไม่ว่าจะถอนเงินออกจากบัญชี หรือใช้วงเงินสินเชื่อของเหยื่อที่เป็นเจ้าของบัตร







 








คุณทราบหรือไม่ครับว่า ข้อมูลบนแถบแม่เหล็กด้านหลังบัตรเครดิต หรือบัตรเอทีเอ็ม เป็นสิ่งที่สำคัญ ที่มิจฉาชีพนำไปใช้ทำบัตรปลอม เพื่อขโมยเงินออกจากบัญชีของคุณ ด้วยการใช้เครื่องคัดลอกข้อมูล หรือที่เรียกกันว่า เครื่องสครีมเมอร์ (Skimmer) ไปติดไว้ตามตู้เอทีเอ็ม หรือแอบคัดลอกข้อมูลออกจากบัตร ขณะที่คุณไปรูดบัตรเพื่อซื้อสินค้า ฉะนั้นทุกครั้งที่คุณไปใช้บริการที่ตู้เอทีเอ็ม คุณควรสังเกตุช่องสอดบัตร และบริเวณแป้นกดตัวเลขซักนิดว่า มีลักษณะผิดปกติไปจากเดิมหรือไม่ หากไม่แน่ใจ ทางเลือกที่ดีที่สุด คือ ไม่ต้องใช้เอทีเอ็มเครื่องนั้น หรือบริเวณนั้น และแจ้งให้ธนาคารเจ้าของตู้เอทีเอ็มนั้นทราบทันที และทุกครั้งที่คุณนำบัตรเครดิต หรือบัตรเอทีเอ็มไปรูดซื้อสินค้า ก็ควรอยู่ในจุดที่เห็นพนักงานทำรายการเกี่ยวกับบัตรของเราได้ตลอดเวลา
    สำหรับเครื่องแฮนด์เฮลด์สกิมเมอร์เป็นเครื่องคัดลอกข้อมูลในแถบแม่เหล็กขนาดเล็กที่สามารถพกพาได้ ซึ่งมิจฉาชีพมักจะถือไว้ในฝ่ามือ และนำบัตรของเหยื่อมารูดพร้อมทั้งดูรหัสปลอดภัยจากด้านหลังบัตรโดยไม่ให้เหยื่อสังเกตเห็น ซึ่งอาจเกิดขึ้นที่ใดก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นร้านค้า ร้านอาหาร สถานีบริการน้ำมัน หรือมิจฉาชีพอาจแอบอ้างเป็นเจ้าพนักงานธนาคารยื่นหน้าตู้เอทีเอ็ม ขอดูบัตรของเหยื่อ หรืออาจทำทีเสนอความช่วยเหลือแก่เหยื่อหากบัตรติดตู้เอทีเอ็ม แล้วคัดลอกข้อมูลผ่านเครื่องแฮนด์เฮลด์สกิมเมอร์เมื่อเหยื่อเผลอ

ข้อแนะนำ วิธีใช้  "บัตรเครดิต" บัตรเอทีเอ็ม และบัตรอิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ ให้ปลอดภัยที่สุด

ก่อนใช้งานตู้เอทีเอ็มควร

  •    หลีกเลี่ยงการใช้ตู้เอทีเอ็มในสถานที่เปลี่ยว เพราะมีโอกาสที่มิจฉาชีพจะติดตั้งเครื่องคัดลอกข้อมูลไว้ได้โดยง่าย
  •    สังเกตช่องเสียบบัตร แป้นกดตัวเลข หรือบริเวณตู้เอทีเอ็ม ว่ามีสิ่งผิดปกติ เช่น แป้นครอบตัวเลข กล่องหรืออุปกรณ์ที่ติดไว้ในระยะมองเห็นการกดรหัสหรือไม่

หากใช้บัตรกับร้านค้าควร

  •    หลีกเลี่ยงร้านค้าที่มีความเสี่ยงที่จะเกิดการทุจริต เช่น สถานบริการน้ำมัน สถานบันเทิง
  •    ควรอยู่ในบริเวณที่มองเห็นการทำรายการ และให้บัตรอยู่ในสายตาตลอดเวลา เพื่อป้องกันพนักงานนำบัตรไปรูดกับเครื่องสกิมเมอร์

เมื่อใช้งานบัตรควร

  •    ใช้มือปิดบังไม่ให้ผู้อื่นมองเห็นแป้นกด ในขณะที่กำลังกดรหัสผ่าน
  •    เก็บใบบันทึกรายการทุกครั้ง เพื่อเป็นหลักฐานในการตรวจสอบยอดการใช้จ่าย
  •    ตรวจสอบรายการใช้จ่ายหรือยอดเงินอย่างสม่ำเสมอ หากมีรายการผิดปกติ ให้แจ้งธนาคารหรือบริษัทผู้ออกบัตรเพื่อตรวจสอบและดำเนินการแก้ไข

หากบัตรสูญหายหรือถูกขโมย ควรแจ้งธนาคารหรือบริษัทผู้ออกบัตรเพื่ออายัดบัตรทันที

และหากว่าท่านคิดว่าตกเป็นเหยื่อเหล่ามิจฉาชีพแล้ว ก็จงตั้งสติและทำตามขั้นตอนต่อไปนี้
   1. เมื่อพบรายการถอนเงินหรือโอนเงินผิดปกติ ควรแจ้งอายัดบัตรทันที พร้อมตรวจสอบยอดเงินใช้จ่ายหรือยอดเงินคงเหลือกับเจ้าหน้าที่ธนาคารหรือบริษัทผู้ออกบัตร
   2. แจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ
   3. ทำใจ...เพราะเงินที่ถูกมิจฉาชีพขโมยไป โอกาสจะได้คืนนั้นน้อยมาก โดยเฉพาะในกรณีที่มิจฉาชีพได้ข้อมูลบัตรเพราะความประมาทของผู้ถือบัตร ทั้งนี้ กรณีที่เป็นการ skimming ที่ตู้เอทีเอ็มของธนาคารจริง ธนาคารจะชดใช้เงินให้แก่ลูกค้าที่ได้รับความเสียหาย (แล้วแต่กรณีนะครับ)

   ข้อแนะนำสำหรับการใช้บัตรเครดิต บัตรเอทีเอ็ม บัตรอิเล็กทรอนิกส์ ฯลฯ ก็คือมีสติ ไม่ประมาท รู้จักสังเกตุสิ่งผิดปกติจากตู้เอทีเอ็ม หากไม่แน่ใจ ก็ไม่ควรทำ และหากพบตู้เอทีเอ็มที่สงสัยว่ามีเครื่องสกิมเมอร์ติดตั้งไว้  ห้ามใช้ตู้เอทีเอ็มนั้นโดยเด็ดขาด และติดต่อสถาบันการเงินเจ้าของตู้เอทีเอ็ม เช่น สาขาใกล้เคียง หรือฝ่ายบริการลูกค้า (call center) เพื่อตรวจสอบ และขอปรึกษาวิธีใช้งานที่ปลอดภัย สุขสันต์วันปีใหม่ไทยครับทุกท่านๆ ...บัตรเครดิต (บล็อก)