6 วิธีบริหารหนี้ให้เป็น (หนี้บัตรเครดิต หนี้บ้าน หนี้รถ หนี้เงินสด ก็จัดการได้)

6 วิธีบริหารหนี้ให้เป็น
คนส่วนใหญ่ เมื่อได้ยินคำว่า หนี้ มักจะมีความรู้สึกไปในทางไม่ดี โดยเฉพาะหากบอกว่าเป็นลูกหนี้ด้วยแล้ว มักจะไม่ค่อยมีใครกล่าวถึง อาจจะด้วยสาเหตุที่ว่า กลัวว่าคนอื่นจะรู้ว่าเราเป็นหนี้ หรือกลัวคนอื่นจะรู้จำนวนหนี้ของเรา กลัวว่าคนอื่นจะรู้ว่าเราไม่มีเงิน จึงต้องไปกู้เงินมา อะไรประมาณนี้เป็นต้น แต่เชื่อเถอะครับ ทุกวันนี้ มองไปทางไหน 100 คน ผมว่า คงไม่ถึง 20 คน ที่ไม่มีหนี้ หรือไม่ได้เป็นหนี้กับสถาบันการเงินอะไร ฉะนั้นแล้ว ผมว่า การเป็นหนี้ไม่ได้เป็นเรื่องไม่ดีอะไร น่าจะแค่ความรู้สึกของคนเราเท่านั้นเอง  การเป็นหนี้ไม่ได้เป็นเรื่องที่เลวร้ายเลย บางครั้งเราเองก็มีความจำเป็นจะต้องใช้เงิน เพื่อซื้อสิ่งของ หรือบริการที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต ต่ออนาคตของเรา แต่ว่าเราไม่มีเงินสดพอจ่ายในตอนนั้น ก็เลยต้องก่อหนี้ขึ้น เริ่มปรับเปลี่ยนความคิดตัวเองเสียใหม่ตั้งแต่ตอนเลยนี้ครับ เพราะหากคุณมี "หนี้ดี" มันคือ หนี้ที่จะช่วยสร้างอนาคต และสร้างความมั่นคงในระยะยาวให้กับชีวิตคุณเอง ฟังแบบนี้แล้ว คุณยังคิดว่า การมีหนี้เป็นเรื่องไม่ดีหรือเปล่า แน่นอนครับ มีหนี้ก็ต้องใช้หนี้ แต่เราสามารถ "เลือกเป็นลูกหนี้ทีดี" ได้ เพื่อให้มันเป็นหนี้ดี (หนี้ที่จะช่วยสร้างอนาคต และสร้างความมั่นคงในระยะยาวให้กับชีวิต) ไม่ว่าจะเป็นหนี้ดี หรือลูกหนี้ที่ดี เราสามารถทำด้วยตัวเองได้ โดยเริ่มตั้งแต่การวางแผนการบริหารจัดการเงินที่จะไปขอกู้มา วางแผนการจ่ายคืนให้ตรงเวลา โดยไม่ได้เป็นการเพิ่มภาระสำหรับผู้กู้มากนัก รวมถึงเลือกสินเชื่อที่เหมาะกับความต้องการ เลือกสินเชื่อที่จะให้สิทธิประโยชน์แก่ตัวเรา และตรงเป้าหมายในการกู้ยืมให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ผมยกตัวอย่าง การเป็นหนี้บัตรเครดิต บัตรเครดิตให้ความสะดวกสบายกับเราก็จริงอยู่ แต่หากเราขาดการวางแผนที่ดี บางครั้งอาจจะใช้จ่ายเกินตัว ท้ายที่สุดแล้ว ก็อาจทำให้เป็นหนี้สินพอกพูนจนเกินกำลังจะชำระหนี้ได้ ดังนั้น เมื่อใช้บัตรเครดิตก็ควรมีวินัยทางการเงินที่ดี  การเป็นหนี้ บางครั้งเราก็เลือกไม่ได้ แต่เราเลือกที่จะเป็น ลูกหนี้ที่ดีได้ ด้วยการบริหารหนี้ให้เป็น วันนี้ผมขอฝาก 6 วิธีบริหารหนี้ให้เป็น ไม่ว่าจะเป็น หนี้บัตรเครดิต หนี้บ้าน หนี้รถ หนี้เงินสด ก็สามารถใช้เป็นแนวทางบริหารจัดการหนี้ของคุณได้ครับ...


  1. การวางแผนการชำระหนี้ : สิ่งสำคัญเมื่อเราตัดสินใจเป็นหนี้ คือ การสร้างหนี้ดีที่จะทำให้เราได้รับผลประโยชน์สูงสุดในระยะยาว โดยที่เราสามารถรับผิดชอบผ่อนจ่ายได้โดยไม่มีเงินขาดมือ ดังนั้นการวางแผนการชำระเงินให้ครบและตรงเวลา ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่สุด
  2. จดบันทึกรายรับ - รายจ่าย : การจดบันทึกรายรับ - รายจ่ายควรจดบันทึกอย่างละเอียด เพื่อที่เราจะได้ประเมินสถานการณ์การเงินของเราได้ ในบันทึกเราสามารถดูได้ว่าอะไรเป็นค่าใช้จ่ายที่จำเป็น อะไรตัดทิ้งได้ เป็นค่าใช้จ่ายฟุ่มเฟือย ต่อไปเราก็สามารถตัดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น แล้วกันเงินส่วนหนึ่งมาทบเงินที่จะนำมาจ่ายหนี้ได้ในแต่ละเดือน
  3. ปลดหนี้ก้อนใหญ่ให้หมดโดยเร็ว : หากคุณสามารถชำระหนี้แบบเต็มวงเงินได้ แล้วมีเงินเหลือพอใช้จ่ายได้ในแต่ละเดือน ให้กัดฟันจ่ายหนี้บัตรเครดิตที่ยอดสูงที่สุด ดอกเบี้ยแพงที่สุดด้วยเงินก้อนโตหน่อยในแต่ละเดือน ส่วนบัตรใบอื่นหนี้น้อย พยายามจ่ายให้มากกว่ายอดพึงชำระขั้นต่ำ เพื่อที่จะได้ไม่ต้องมานั่งใช้หนี้กันยาวนาน เพราะหนี้บัตรเครดิตหากคุณจ่ายเต็มยอดภายในระยะเวลาที่กำหนด หรือภายในรอบบิลจะไม่มีดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายเพิ่ม แต่หากคุณจ่ายยอดแค่ขั้นต่ำคุณจะต้องมารับผิดชอบดอกเบี้ยที่จะเกิดขึ้นรายวันจากยอดเต็มที่คุณจ่ายไป
  4. รีไฟแนนซ์ : ถ้าคุณใช้หนี้แล้วแต่เงินเหลือไม่พอใช้ในชีวิตประจำวัน กรณีนี้อาจจะต้องลองคิดเรื่องรีไฟแนนซ์เพื่อเป็นการช่วยยืดเวลาชำระหนี้ออกไปอีก หากคุณต้องการรีไฟแนนซ์ ให้หาที่ๆ ให้ดอกเบี้ยเงินกู้ต่ำกว่าที่เก่าเพื่อมาช่วยผ่อนหนี้โดยมีเงินเหลือให้เราใช้จ่ายได้ แต่ว่าการรีไฟแนนซ์อาจจะทำให้คุณต้องจ่ายหนี้นานกว่าเดิมถึงสองเท่าตัว ดังนั้นหากคิดจะรีไฟแนนซ์ขอให้มั่นใจเสียก่อนว่าการรีไฟแนนซ์เป็นวิธีเดียวที่จะช่วยคุณผ่อนหนี้ได้เท่านั้น
  5. ปรับโครงสร้างหนี้ :  คุณสามารถติดต่อเจ้าหนี้บัตรเครดิต หรือธนาคารที่ให้สินเชื่อเพื่อขอทำสัญญาใหญ่ที่จะรวมเงินต้น ดอกเบี้ยที่ปรับแล้ว ค่าธรรมเนียมการติดตามหนี้ โดยหากทำแบบนี้คุณจะสามารถช่วยยืดระยะเวลาการชำระหนี้ออกไปได้ หากคุณเป็นหนี้บัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคลกับธนาคารแห่งเดียวกัน คุณสามารถขอเสนอให้ธนาคารรวมหนี้มาเป็นยอดเดียวกัน แล้วคิดอัตราดอกเบี้ยน้อยลง แต่อย่าลืมว่าหนี้บัตรเครดิต กับสินเชื่อส่วนบุคคลมีอายุความไม่เท่ากัน การคิดดอกเบี้ยก็ไม่เหมือนกัน หากมีหนี้หลายตัวการปรับโครงสร้างหนี้อาจจะเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำเพราะหากคุณผิดนัดแม้แต่งวดเดียวก็อาจถูกอายัดทรัพย์ หรือเงินเดือนได้เลยทีเดียว
  6. หาแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ : คุณสามารถหาแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำเพื่อหาเงินกู้มาใช้หนี้ได้ เช่น กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนสวัสดิการพนักงาน สหกรณ์ หรือคุณอาจจะพึ่งพาคนในครอบครัวก็ได้อีกทางหนึ่ง ส่วนวินัยในการชำระคืนเงินที่ยืมมาก็เป็นอีกส่วนที่มีความสำคัญในการสร้างนิสัยในการบริหารหนี้ให้มีประสิทธิภาพนั่นเอง

นอกจากวิธีการข้างต้นแล้ว การวางแผนการใช้จ่ายล่วงหน้าเดือนต่อเดือน แยกค่าอาหาร ค่าเดินทาง ค่าใช้จ่ายรายเดือนต่างๆ ก็จะสามารถช่วยให้คุณมีเงินเหลือมาชำระหนี้ได้ ซึ่งก็เป็นแนวทางในการบริหารหนี้ให้เป็นอีกแนวทางหนึ่งด้วย