เตือนภัยโซเซียลมีเดียระวังถูกหลอกให้โอนเงิน (ระวังภัยจากโลกออนไลน์)

ภัยลกออนไลน์

เตือนภัยโซเซียลมีเดียระวังถูกหลอกให้โอนเงิน (ระวังภัยจากโลกออนไลน์)
การสื่อสารผ่านโลกออนไลน์ ช่วยให้คุณติดต่อสื่อสารกันได้สะดวก รวดเร็ว แต่ความสะดวกสะบายนั้น อาจจะแฝงมากับอันตราย หากคุณใช้อย่างไม่ระวัง เช่น การหลอกให้โอนเงินจากบุคคลที่ติดต่อกันทางสื่อออนไลน์ที่มิจฉาชีพมักจะปลอมตัวให้ดูดี น่าเชื่อถือ เพื่อให้คุณรับเป็นเพื่อนและสร้างความสนิทสนม ก่อนแต่งเรื่องหลอกลวงต่างๆ ให้ตายใจ และจบลงด้วยการอ้างว่า ได้โอนเงินหรือส่งของขวัญมาให้ แต่ถูกระงับการโอนหรือถูกตรวจสอบ ซึ่งคุณต้องโอนเงิน เพื่อจ่ายเป็นค่าธรรมเนียมก่อน จึงจะได้รับเงินหรือของขวัญนั้น โดยจะหลอกให้คุณโอนเงิน ต่อเนื่องไปเรื่อยๆ ด้วยเหตุผลต่างๆ กว่าคุณจะรู้ตัวว่าถูกหลอก ก็หลงโอนเงินไปมากแล้ว ต่อไปนี้เป็นเหตุผลตัวอย่างที่เหล่ามิจฉาชีพใช้เพื่อข้ออ้าง สำหรับหลอกล่อเยื่อ เพื่อให้หลงโอนเงินให้กับเหล่ามิจฉาชีพ ...

  • เป็นนักธุรกิจที่ต้องการสั่งซื้อสินค้าเป็นจำนวนมาก โดยส่งหลักฐานการโอนเงินจำนวนมากเพื่อจ่ายค่าสินค้ามาให้เหยื่อดู
  • เป็นผู้ที่ได้รับมรดกเป็นจำนวนมาก แต่ติดเงื่อนไขต่าง ๆ ทำให้ไม่สามารถรับเงินได้ด้วยตนเอง จึงขอให้เหยื่อรับเงินแทน
  • เป็นผู้ใจบุญที่ต้องการบริจาคเงินเป็นจำนวนมหาศาลให้มูลนิธิหรือองค์กรการกุศลต่าง ๆ เมื่อแจ้งว่าจะบริจาคเงินให้กับเหยื่อแล้ว จะส่งหลักฐานการโอนเงินปลอมมาให้เหยื่อดู
  • เป็นชาวต่างชาติที่ต้องการหารักแท้ โดยอ้างว่าพร้อมที่จะย้ายมาอยู่กับเหยื่อเพื่อสร้างครอบครัวร่วมกัน  จึงโอนเงินค่าบ้าน ค่ารถ หรือเงินทั้งหมดที่มีมาให้เหยื่อ หรืออาจหลอกเหยื่อว่าจะส่งของหรือเงินสดมาให้เหยื่อทางไปรษณีย์


เมื่อเหยื่อได้รับหลักฐานการโอนเงินหรือการส่งของจากมิจฉาชีพ ก็มักหลงเชื่อว่ามิจฉาชีพได้โอนเงินหรือส่งของนั้นมาจริง ๆ ​เมื่อเวลาผ่านไป มิจฉาชีพจะแจ้งเหยื่อ หรืออาจมีมิจฉาชีพคนอื่นมาแสดงตนเป็นเจ้าหน้าที่และแจ้งเหยื่อว่าไม่สามารถโอนเงินหรือส่งของให้เหยื่อได้ เพราะติดด้วยเงื่อนไขต่าง ๆ เช่น

  • ธนาคารแห่งประเทศไทยระงับการโอนเงินและขอตรวจสอบ
  • ธนาคารกลางของประเทศต้นทางระงับการโอนเงิน เพราะสงสัยว่าเป็นการฟอกเงิน
  • สหประชาชาติ หรือกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ขอตรวจสอบ
  • ​กรมศุลกากรขอตรวจสอบของที่ส่งมาจากต่างประเทศ เพราะมีเงินสดบรรจุมาด้วย​

จากนั้นจะเรียกเก็บค่าธรรมเนียมต่าง ๆ จากเหยื่อ เช่น ค่าธรรมเนียมการโอนเงิน ค่าดำเนินการ ค่าทนาย โดยจะเรียกเก็บในจำนวนน้อยแล้วเพิ่มจำนวนเงินขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งเหยื่อก็จะคิดว่าเป็นเรื่องจริง และเห็นว่าจ่ายอีกนิดก็จะได้รับเกินก้อนใหญ่ ซึ่งกว่าจะรู้ตัวว่าถูกหลอกก็อาจหมดเงินไปจำนวนมากแล้ว และโอกาสที่จะติดตามรับเงินคืนก็เป็นไปได้ยากมาก เพราะมิจฉาชีพมักอยู่ในต่างประเทศ และให้เหยื่อโอนเงินผ่านบริการโอนเงินที่มิจฉาชีพรับเงินได้โดยไม่ต้องมีเอกสารแสดงตน
ข้อสังเกต : มิจฉาชีพจะหลอกให้เหยื่อโอนเงินผ่านบริการโอนเงินที่มิจฉาชีพสามารถรับเงินได้โดยไม่ต้องมีเอกสารแสดงตน เพราะยากต่อการติดตามของหน่วยงานราชการ หรือองค์กรระหว่างประเทศต่าง ๆ ตามที่ยกตัวอย่างข้างต้นนั้น หน่วยงานเหล่านี้มีหน้าที่ชัดเจน และส่วนใหญ่จะไม่ติดต่อกับประชาชนโดยตรง อย่างไรก็ตาม หากหน่วยราชการใดมีกิจต้องติดต่อกับประชาชน การแจ้งให้ประชาชนดำเนินการใด ๆ จะมีเอกสารหลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษร หากมีผู้แอบอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่เหล่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีต้องมีการโอนเงินหรือชำระเงิน ควรตรวจสอบไปยังหน่วยงานนั้นโดยตรงก่อน โดยไม่ใช้อีเมลหรือหมายเลขโทรศัพท์ที่ได้รับแจ้งมา ดังนั้น คุณควรมีสติ นึกถึงความเป็นไปได้ ไม่หลงเชื่อในสิ่งที่มิจฉาชีพนำมาล่อ เพียงเท่านี้ก็จะช่วยให้คุณปลอดภัยจากมิจฉาชีพแล้ว